Tuesday 18 October 2016

การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงแบบ 4P ในยุค 4G

การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงแบบ 4P ในยุค 4G 

เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน




            ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทุกคนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อการสื่อสารและดูข้อมูล นอกจากนี้เราก็ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ดีกว่าสมัยก่อนมาก การรักษาโรคเริ่มเปลี่ยนแนวไปเพื่อให้รักษาผู้คนได้แม่นยำขึ้นและเพื่อให้รักษาได้ทุกคน จากที่เคยใช้การรักษาจากตำราจากการวิจัยที่ใช้ประชาการจำนวนมากจากประชากรทั่วโลกเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่เป็นค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุด ในการรักษาแบบเดิมนี้ยาหนึ่งตัวที่ดีที่สุดที่หมอมีอาจจะได้ผลเต็มที่แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของประชาการทั้งโลก ทำให้เราละเลยอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือไป แต่โดยเฉลี่ยแล้วการรักษาแบบเดิมๆอาจจะรักษาได้แค่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก นั่นก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมการรักษาแบบนี้ถึงสามารถใช้ได้กับแค่บางคนเท่านั้น ในอนาคตเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปใช้การรักษาแบบเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล เพราะคนแต่ละคนนั้นมีพันธุกรรมแตกต่างกันมีการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน มีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน และยิ่งอยู่ต่างเผ่าพันธุ์หรืออยู่คนละเทศกันยิ่งมีความแตกต่าง ผลก็คือคนละกลุ่มนั้นจะมีการตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน มีโอกาสเป็นโรคต่างกัน เกิดผลข้างเคียงของการรักษาที่ต่างกัน
            การรักษาสมัยใหม่นั้นเขาเรียกกันว่า การรักษาแบบ 4P ประกอบไปด้วย
·       Predictive (พยากรณ์อย่างแม่นยำ) สามารถพยากรณ์โรคได้อย่างแม่นยำ ว่า บุคคลเหล่านี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรบ้าง
·       Personalized (เฉพาะบุคคล) เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะสามารถเลือกใช้ยาและวิธีรักษาที่เหมาะกับบุคคลนั้น
·       Preventive (ป้องกันได้อย่างสมบูรณ์) สามารถหาวิธีป้องกันอาการป่วย และผลข้างเคียงของการรักษาได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม
·       Participatory (ปฏิสัมพันธุ์ที่ดี) คนไข้และหมอต้องสามารถติดต่อกันได้ เข้าถึงข้อมูลกันได้ และคนไข้สามารถมีส่วนร่วมแสดงคิดเห็นต่อการรักษา

การที่จะทำให้ได้ทั้ง 4P นั้นต้องมีการเข้าถึงข้อมูลอย่างละเอียดของแต่ละบุคคล หรือ เผ่าพันธุ์ หรือ คนในประเทศนั้น ในสัตว์เลี้ยงก็เหมือนกัน สุนัขแต่ละสายพันธุ์นั้นย่อมจะต้องมีแนวทางการรักษาและความเสี่ยงต่อโรคที่ต่างกัน สุนัขสายพันธุ์เดียวกันแต่อยู่คนละที่เลี้ยงคนละแบบก็จะก่อให้เกิดความแตกต่างของการเกิดโรคและแนวทางการรักษาเช่นกัน นอกจากนั้นความรู้ความเข้าใจของเจ้าของที่มีต่อสุนัขก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย และสบายใจแก่เจ้าของและสัตว์เลี้ยงด้วยครับ
ทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลเพื่อทำ 4P ข้อมูลที่จะทำให้ได้ 4P นั้นมีอยู่หลายอย่าง เช่น
·       ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม คนไข้ต้องผ่านการตรวจทางพันธุกรรมและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมว่ามีความผิดปกติ ความแตกต่าง ความเสี่ยงทางพันธุกรรมอะไรบ้าง ที่จะก่อให้เกิดโรคได้ในอนาคต ซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมนี้จะต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลของบรรพบุรุษ เผ่าพันธุ์ บุคคลใกล้เคียงอื่นๆที่ไม่ใช่ญาติด้วย เพื่อที่จะหาความสัมพันธุ์ของการเกิดโรคในอดีตและพันธุกรรม และข้อมูลเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์เพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคในอนาคต แนวทางการป้องกันและรักษา เมื่อวันที่เกิดการเจ็บป่วย
·       ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ค่าเลือด ค่าสารเคมีในเลือด ผลตรวจร่างกายจากการเอ็กซเรย์ อุลตราซาวด์ และอื่นๆ เช่น ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าเหล่านี้จะต้องทำการตรวจอย่างสม่ำเสมอจะไม่ใช้การตรวจประจำปีอีกต่อไปเพราะมันจะไม่แม่นยำและอาจช้าเกินไป จะต้องมีการตรวจที่บ่อยกว่านั้น เช่นทุก สามเดือน เพื่อที่จะได้เป็นค่าที่ปกติของแต่ละบุคคล และจะได้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น ค่าอย่างความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณน้ำตาลกลูโคส หรือตรวจปัสสาวะ เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถที่จะทำการตรวจที่บ้านได้เอง และรายงานผลเข้าทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้คุณหมอได้เข้ามาดูได้ โดยใช้อุปกรณ์ตรวจที่ง่ายและแม่นยำ เมื่อป้อนข้อมูลเข้าไปในระบบตัวคอมพิวเตอร์ในระบบจะสามารถวิเคราะห์และแจ้งเตือนทั้งหมอและเจ้าของสัตว์ได้เมื่อเห็นความผิดปกติของข้อมูล
·       ข้อมูลที่เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน การออกกำลังกาย ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถกรอกเข้าระบบอินเตอร์เน็ตได้ทุกวัน ถ้าเราไม่ลืม ยิ่งกรอกได้ละเอียดมากเท่าไรก็ยิ่งจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดขึ้น ในเทคโนโลยีสมัยใหม่มือถือหรือนาฬิกาบางชนิดสามารถบันทึกการเคลื่อนไหวของเราได้โดยอัตโนมัติ แต่ในสัตว์เลี้ยงอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีเหมือนกันแต่อยู่ในรูปของปลอกคอ และก็สามารถรายงานผลเข้าทางมือถือหรืออินเตอร์เน็ตที่บ้านของเราโดยอัตโนมัติครับ

·       ข้อมูลการปฏิสัมพันธุ์ ระหว่างหมอกับคนไข้ ในสัตว์เลี้ยงก็ต้องเป็นข้อมูลการติดต่อสื่อสารระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์เลี้ยง ในอนาคตการโทรขอคำปรีกษาจากหมอ การไปรอพบหมอที่โรงพยาบาล จะไม่ค่อยเกิดขึ้นยกเว้นจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องสำคัญหรือจำเป็นจริงๆถึงจะทำ เจ้าของสุนัขสามารถติดต่อกับคุณหมอได้ทางโปรแกรมในอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะเป็นระหว่างบุคคลกับหมอหรือเป็นการคุยกันในกลุ่มเจ้าของกับหมอเพื่อใช้ประสบการณ์และความรู้ของเจ้าของมาช่วยในการวินิจฉัย และแนวทางการรักษา ซึ่งข้อมูลจะถูกบันทึกเข้าระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเพื่อช่วยในการวิเคราะห์เจ้าของสัตว์จะมีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจ การตัดสินใจในการรักษาจะขึ้นกับความรู้ ความเชื่อทางศีลธรรมและจารีตประเพณี บวกกับสภาวะทางการเงินด้วย


No comments:

Post a Comment