Tuesday 18 October 2016

การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงแบบ 4P ในยุค 4G

การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงแบบ 4P ในยุค 4G 

เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน




            ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทุกคนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อการสื่อสารและดูข้อมูล นอกจากนี้เราก็ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ดีกว่าสมัยก่อนมาก การรักษาโรคเริ่มเปลี่ยนแนวไปเพื่อให้รักษาผู้คนได้แม่นยำขึ้นและเพื่อให้รักษาได้ทุกคน จากที่เคยใช้การรักษาจากตำราจากการวิจัยที่ใช้ประชาการจำนวนมากจากประชากรทั่วโลกเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่เป็นค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุด ในการรักษาแบบเดิมนี้ยาหนึ่งตัวที่ดีที่สุดที่หมอมีอาจจะได้ผลเต็มที่แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของประชาการทั้งโลก ทำให้เราละเลยอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือไป แต่โดยเฉลี่ยแล้วการรักษาแบบเดิมๆอาจจะรักษาได้แค่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก นั่นก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมการรักษาแบบนี้ถึงสามารถใช้ได้กับแค่บางคนเท่านั้น ในอนาคตเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปใช้การรักษาแบบเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล เพราะคนแต่ละคนนั้นมีพันธุกรรมแตกต่างกันมีการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน มีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน และยิ่งอยู่ต่างเผ่าพันธุ์หรืออยู่คนละเทศกันยิ่งมีความแตกต่าง ผลก็คือคนละกลุ่มนั้นจะมีการตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน มีโอกาสเป็นโรคต่างกัน เกิดผลข้างเคียงของการรักษาที่ต่างกัน
            การรักษาสมัยใหม่นั้นเขาเรียกกันว่า การรักษาแบบ 4P ประกอบไปด้วย
·       Predictive (พยากรณ์อย่างแม่นยำ) สามารถพยากรณ์โรคได้อย่างแม่นยำ ว่า บุคคลเหล่านี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรบ้าง
·       Personalized (เฉพาะบุคคล) เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะสามารถเลือกใช้ยาและวิธีรักษาที่เหมาะกับบุคคลนั้น
·       Preventive (ป้องกันได้อย่างสมบูรณ์) สามารถหาวิธีป้องกันอาการป่วย และผลข้างเคียงของการรักษาได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม
·       Participatory (ปฏิสัมพันธุ์ที่ดี) คนไข้และหมอต้องสามารถติดต่อกันได้ เข้าถึงข้อมูลกันได้ และคนไข้สามารถมีส่วนร่วมแสดงคิดเห็นต่อการรักษา

การที่จะทำให้ได้ทั้ง 4P นั้นต้องมีการเข้าถึงข้อมูลอย่างละเอียดของแต่ละบุคคล หรือ เผ่าพันธุ์ หรือ คนในประเทศนั้น ในสัตว์เลี้ยงก็เหมือนกัน สุนัขแต่ละสายพันธุ์นั้นย่อมจะต้องมีแนวทางการรักษาและความเสี่ยงต่อโรคที่ต่างกัน สุนัขสายพันธุ์เดียวกันแต่อยู่คนละที่เลี้ยงคนละแบบก็จะก่อให้เกิดความแตกต่างของการเกิดโรคและแนวทางการรักษาเช่นกัน นอกจากนั้นความรู้ความเข้าใจของเจ้าของที่มีต่อสุนัขก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย และสบายใจแก่เจ้าของและสัตว์เลี้ยงด้วยครับ
ทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลเพื่อทำ 4P ข้อมูลที่จะทำให้ได้ 4P นั้นมีอยู่หลายอย่าง เช่น
·       ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม คนไข้ต้องผ่านการตรวจทางพันธุกรรมและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมว่ามีความผิดปกติ ความแตกต่าง ความเสี่ยงทางพันธุกรรมอะไรบ้าง ที่จะก่อให้เกิดโรคได้ในอนาคต ซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมนี้จะต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลของบรรพบุรุษ เผ่าพันธุ์ บุคคลใกล้เคียงอื่นๆที่ไม่ใช่ญาติด้วย เพื่อที่จะหาความสัมพันธุ์ของการเกิดโรคในอดีตและพันธุกรรม และข้อมูลเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์เพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคในอนาคต แนวทางการป้องกันและรักษา เมื่อวันที่เกิดการเจ็บป่วย
·       ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ค่าเลือด ค่าสารเคมีในเลือด ผลตรวจร่างกายจากการเอ็กซเรย์ อุลตราซาวด์ และอื่นๆ เช่น ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าเหล่านี้จะต้องทำการตรวจอย่างสม่ำเสมอจะไม่ใช้การตรวจประจำปีอีกต่อไปเพราะมันจะไม่แม่นยำและอาจช้าเกินไป จะต้องมีการตรวจที่บ่อยกว่านั้น เช่นทุก สามเดือน เพื่อที่จะได้เป็นค่าที่ปกติของแต่ละบุคคล และจะได้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น ค่าอย่างความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณน้ำตาลกลูโคส หรือตรวจปัสสาวะ เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถที่จะทำการตรวจที่บ้านได้เอง และรายงานผลเข้าทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้คุณหมอได้เข้ามาดูได้ โดยใช้อุปกรณ์ตรวจที่ง่ายและแม่นยำ เมื่อป้อนข้อมูลเข้าไปในระบบตัวคอมพิวเตอร์ในระบบจะสามารถวิเคราะห์และแจ้งเตือนทั้งหมอและเจ้าของสัตว์ได้เมื่อเห็นความผิดปกติของข้อมูล
·       ข้อมูลที่เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน การออกกำลังกาย ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถกรอกเข้าระบบอินเตอร์เน็ตได้ทุกวัน ถ้าเราไม่ลืม ยิ่งกรอกได้ละเอียดมากเท่าไรก็ยิ่งจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดขึ้น ในเทคโนโลยีสมัยใหม่มือถือหรือนาฬิกาบางชนิดสามารถบันทึกการเคลื่อนไหวของเราได้โดยอัตโนมัติ แต่ในสัตว์เลี้ยงอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีเหมือนกันแต่อยู่ในรูปของปลอกคอ และก็สามารถรายงานผลเข้าทางมือถือหรืออินเตอร์เน็ตที่บ้านของเราโดยอัตโนมัติครับ

·       ข้อมูลการปฏิสัมพันธุ์ ระหว่างหมอกับคนไข้ ในสัตว์เลี้ยงก็ต้องเป็นข้อมูลการติดต่อสื่อสารระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์เลี้ยง ในอนาคตการโทรขอคำปรีกษาจากหมอ การไปรอพบหมอที่โรงพยาบาล จะไม่ค่อยเกิดขึ้นยกเว้นจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องสำคัญหรือจำเป็นจริงๆถึงจะทำ เจ้าของสุนัขสามารถติดต่อกับคุณหมอได้ทางโปรแกรมในอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะเป็นระหว่างบุคคลกับหมอหรือเป็นการคุยกันในกลุ่มเจ้าของกับหมอเพื่อใช้ประสบการณ์และความรู้ของเจ้าของมาช่วยในการวินิจฉัย และแนวทางการรักษา ซึ่งข้อมูลจะถูกบันทึกเข้าระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเพื่อช่วยในการวิเคราะห์เจ้าของสัตว์จะมีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจ การตัดสินใจในการรักษาจะขึ้นกับความรู้ ความเชื่อทางศีลธรรมและจารีตประเพณี บวกกับสภาวะทางการเงินด้วย


Monday 22 August 2016

จะทำอย่างไรดีเมื่อสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต

จะทำอย่างไรดีเมื่อสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต

เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน


คนที่รักสัตว์เลี้ยงทุกคนก็ย่อมจะมองเห็นว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นมากกว่าสัตว์ธรรมดา เพราะว่ารักเราเขามาก เหมือนดัง เป็นเพื่อน เป็นลูก เป็นญาติของเราเอง และเมื่อเกิดการเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยง เจ้าของก็ต้องเสียใจเป็นอย่างมากและก็ อยากจะจัดพิธีศพ อยากทำบุญให้ อยากจะมีของที่ระลึกหรือความทรงจำเก็บไว้

เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราเสียชีวิต เราควรทำอย่างไรดี ก็มีทางเลือกที่มีอยู่ สี่ อย่าง ในประเทศไทย คือ ฝังเอง ทำพิธีทางศาสนา บริจาคให้คณะสัตวแพทยศาสตร์เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ หรือทำสต๊าฟสัตว์

การฝังสัตว์เลี้ยงในที่ดินของตัวเอง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ห้ามไปฝังในที่คนอื่นหรือที่สาธารณะนะครับ เพราะมันผิดกฏหมาย เมื่อถูกฝังไว้เป็นเวลานาน ร่างกายที่เน่าเปื่อยก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้สู่ดิน เจ้าของอาจจะทำการปลูกต้นไม้ หรือดอกไม้ไว้บริเวณที่ฝังเพื่อที่ระลึกถึงสัตว์เลี้ยงที่รัก ที่สำคัญควรจะฝังลึกหน่อยไม่งั้นอาจส่งกลิ่นเหม็นออกมาได้ หรือรังให้สัตว์อืนมาคุ้ยเขี่ย แต่ถ้าในต่างประเทศหลายประเทศจะมีสถานที่ให้ฝังศพสัตว์เลี้ยงให้โดยเฉพาะเรียกว่า Pet CEMETRY หรือสุสานสัตว์เลี้ยงนั่นเอง แต่ในประเทศไทยเท่าที่ทราบอาจจะมีอยู่ที่เดียวที่ยอมให้มีการฝังศพสุนัข (ทำฮวงซุ้ย) ก็คือ ที่วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น และเรียกบริเวณนั้นว่า “สุสานเพื่อนรัก”

การทำพิธีทางศาสนา หลังจากที่สัตว์เลี้ยงเสียชีวิต เราก็สามารถทำพิธีทางศาสนาได้ ซึ่งเท่าที่เห็นในประเทศไทยก็มีแต่ศาสนาพุทธเท่านั้น หลังจากทำพิธีเสร็จแล้วก็จะนำเอาไปฝัง หรือเผา ก็ถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลครั้งสุดท้ายให้กับสัตว์เลี้ยงที่เรารัก ไม่ใช่ทุกวัดที่จะยอมทำพิธีทางศาสนาให้สัตว์เลี้ยงและยอมให้มีการเผาในวัด ฉะนั้นก็ต้องลองสอบถามวัดแถวบ้านดูนะครับว่า สามารถทำได้ไหม หรือลองค้นหาในอินเตอร์เน็ตดู นอกจากนี้ปัจจุบันมีบริษัทรับจัดงานศพให้สุนัขแบบครบวงจรอยู่หลายบริษัท ถ้าค้นหาจากอินเตอร์เน็ตก็จะมีอยู่หลายบริษัทนะครับ เขาก็จะมีตั้งแต่รับศพมาแช่แข็งเก็บไว้ไม่ให้เปื่อยเน่า แต่งศพ ทำพิธีทางศาสนา เผาศพ ลอยอังคาร มีจัดทำ โลงศพ พวงหรีด และของที่ระลึกให้ แต่ถ้าต้องการจัดการเองแต่กลัวสัตว์เลี้ยงจะเน่าก็คงต้องซื้อตู้แช่แข็งมาไว้เพื่อแช่แข็งสัตว์เลี้ยงไม่ให้เน่าก่อนแล้วค่อยหาเวลาเหมาะสม เพื่อทำพิธีทางศาสนา

การบริจาคร่างกายสัตว์เลี้ยงทีเสียชีวิตให้กับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อนำไปเป็นอาจารย์ใหญ่ เพื่อใช้สอนนักศึกษาสัตวแพทย์ต่อไป การมอบร่างกายเพื่อเป็นการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาสัตวแพทย์ถือว่าเป็นบุญกุศลที่ใหญ่หลวงนัก เพราะสัตวแพทย์จะได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษากับอาจารย์ใหญ่นี้นำไปช่วยชีวิตสัตว์อื่นๆในโลกต่อไป สำหรับการบริจาคให้คณะสัตวแพทยศาสตร์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการบริจาคภายหลังการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสัตว์ของมหาวิทยาลัยเพราะทางเจ้าหน้าที่จะสามารถทำการเก็บรักษาได้ทันท่วงที เพราะถ้าเสียชีวิตมาจากที่อื่นเขาจะไม่รับเพราะร่างกายสัตว์จะเริ่มเน่าแล้ว เมื่อนักศึกษาได้เล่าเรียนกับอาจารย์ใหญ่เสร็จแล้วทางมหาวิทยาลัยก็จะทำพิธีเผาและทำบุญอาจารย์ใหญ่และก็มักจะเชิญเจ้าของมาร่วมทำบุญด้วยทุกครั้ง

การทำสต๊าฟสัตว์ก็คือการนำผิวหนังของสัตว์มาผ่านกรรมวิธีทางเคมีแล้วมาทำเป็นผิวหนังของหุ่นคล้ายของสัตว์ที่เสียชีวิตไป เพื่อเป็นการระลึกถึงตัวสัตว์นั้น ขั้นตอนก็ต้องมีการเลาะเอากล้ามเนื้อและอวัยวะภายในสัตว์ออกให้หมด หลังจากนั้นก็จะยัดวัสดุนุ่มๆเข้าไปแทนกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ เจ้าของอาจจะนำเอาส่วนที่ไม่ได้ใช้ทำสต้าฟไปทำพิธีทางศาสนาหรือฝัง ในปัจจุบันที่รับทำสต๊าฟสัตว์เลี้ยงทั้งของเอกชนและรัฐบาล เช่น ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ สัตวศาสตร์ บางแห่ง เป็นต้น ในต่างประเทศจะมีบริการการแช่แข็งและทำแห้ง เพื่อให้คงซากสัตว์เลี้ยงไว้ได้นานให้ด้วย วิธีนี้จะคงสภาพสัตว์เลี้ยงให้ดูเหมือนจริงมากกว่าแต่ราคาแพงมากกว่าการสต๊าฟสัตว์ด้วยสารเคมีมาก


การจัดทำของที่ระลึก หรือสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงสัตว์เลี้ยงของเรา การทำของที่ระลึกที่ง่ายที่สุดก็คือ เอารูปสัตว์เลี้ยงใส่กรอบ แต่ถ้าอยากใส่รูปไว้มากๆก็ทำเว็บไซด์ หรือเขียนแผ่นลงซีดี หรือคอมพิวเตอร์บันทึกภาพความทรงจำดีๆของคุณกับสัตว์เลี้ยง นอกจากนั้นก็นิยมเก็บเถ้าถ่านของสัตว์เลี้ยงหลังจากการเผามาเก็บไว้ในภาชนะที่เป็นรูปสัตว์ หรือใส่ไว้ในกระถางปลูกต้นไม้ ในต่างประเทศคนเขามักนิยมนำเถ้าถ่านของสุนัขไปให้บริษัทที่รับทำของที่ระลึก เช่น ทำแจกันดอกไม้ หรืออัญมณีเพื่อเป็นเครื่องประดับได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเถ้าถ่านมาเป็นส่วนประกอบของการทำดอกไม้ไฟเพื่อจุดให้ระลึกถึงสัตว์เลี้ยงและมีความเชื่อว่าเพื่อส่งสัตว์เลี้ยงของท่านสู่สวรรค์ได้  การทำอัญมณีจากเถ้ากระดูกนั้นในประเทศไทยเริ่มมีแล้วนะครับ แต่ปกติมักจะทำให้กับเถ้ากระดูกของคนราคาอยู่ที่หลักหมื่นต่อชิ้นครับ เขาเรียกว่า อัฐิมณี (http://www.mindmani.com/) ถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงท่านใดสนใจก็ลองสอบถามกับบริษัทดูเขาอาจจะรับทำให้กับสัตว์เลี้ยงนะครับ

Sunday 3 April 2016

ความปลอดภัยเมื่อนำสุนัขขึ้นนั่งรถยนต์ไปด้วย

          
        ในการเดินทางในแต่ละครั้งนั้นความปลอดภัยในการขับรถนอกจากจะขึ้นอยู่กับสภาพรถ และวินัยของคนขับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คืออุปกรณ์เสริมความปลอดภัยที่สำคัญนั่นก็คือ เข็มขัดนิรภัย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า seat belt (อ่านว่า ซีท เบ้ล ซึ่งแปลตามตัวศัพท์แล้วว่า เข็มขัดที่นั่ง) ถ้าคุณมีเด็กเล็กอยู่ในครอบครัวก็ขอแนะนำให้ใช้ที่นั่งเด็กสำหรับใช้ในรถโดยเฉพาะนะครับ ที่คนไทยมักเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า คาร์ซีท (car seat) คนไทยก็เริ่มหันมาใช้กันมามากขึ้นแล้วครับ เพราะว่ามันปลอดภัยสำหรับเด็กเวลารถเบรก หรือเลี้ยวกระทันหัน แต่ที่ยังไม่นิยมกันอยู่สักเท่าไร สาเหตุหลักก็คือ ราคาค่อนข้างแพง สาเหตุรองลงมา ก็เป็นความเชื่อที่ผิดๆว่า เด็กรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งจริงๆแล้วเด็กจะไม่ได้อึดอัดนะครับ แล้วนั่งสบายมาก ลูกชายของผมก็ใช้นั่งมาตลอด ตั้งแต่เกิดจนถึง ปัจจุบันก็จะสี่ขวบแล้ว แล้วที่ต่างประเทศแถวยุโรป และอเมริกานี่เขาบังคับเป็นกฏหมายเลยนะครับว่าเด็กๆต้องใช้ไม่งั้นคนขับต้องถูกจำ หรือปรับ
       ทีนี้เราก็มีอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเด็กแต่ถ้าเรามีน้องหมาน้องแมวโดยสารมากับรถแล้ว จะทำยังไงดีหละครับ วันนี้เราจะมาพูดถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงขณะโดยสารไปกับรถยนต์ครับ นั่นก็คือเข็มขัดนิรภัยสำหรับ (pets seat belt) สัตว์เลี้ยง และ ที่นั่งสำหรับสัตว์เลี้ยงครับ (pets car seat)
     ทำไมต้องใช้ด้วย ? หลายคนอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของการใช่อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงในรถครับ เพราะว่าหากเกิดอุบัตุเหตุขึ้นมา หรือเกิดการเบรก หรือเลี้ยงอย่างกระทันหัน สัตว์เลี้ยงของท่านจะมีโอกาสสูงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตครับ  และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วสัตว์เลี้ยงอาจเกิดความตกใจ หวาดกลัว จนกัดผู้ที่ร่วมโดยสาร หรือวิ่งหนีออกจากรถไป แล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุในท้องถนนเพิ่มเติมได้อีก และถ้าหากเราไม่ได้มีที่อยู่ที่จำกัดของสัตว์เลี้ยงในขณะที่เราขับรถแล้วละก็ สุนัขหรือแมวของท่าน อาจจะมารบกวนสมาธิในการขับรถ เช่น โดดมาเล่นกับท่าน เล่นพวงมาลัย มาเลียหน้า หรือตะกุยอยู่ข้างๆได้ นี่ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ 
    ในหลายๆเมืองในต่างประเทศนั้นก็เริ่มมีกฤหมายสำหรับการบังคับให้สัตว์ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในขณะขับรถกันบ้างแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้บังคับให้ใช้โดยตรง แต่จะห้ามสุนัขยื่นหน้ามาที่หน้าต่าง ห้ามสุนัขอยู่บนหลังรถปิกอัพ โดยไม่มีการผูก หรือการจับ       ในต่างประเทศรถหลายรุ่นๆโดยเฉพาะรถห้าประตูเขาจะมีการออกแบบที่นั่งด้านหลังให้เป็นที่ของสัตว์เลี้ยงเลยครับ และมีการผูกติดไว้ให้เรียบร้อย สุนัขจะไม่สามารถปีนมาข้างหน้าได้เพราะจะมีที่กั้นไว้ สำหรับคนที่มีรถสี่ประตูก็ต้องให้น้องหมานั่งด้านหลังเป็นส่วนใหญ่ถ้าใช้เข็มขัดนิรภัยสุนัข ถ้าหากคนไหนกลัวเบาะสกปรกเขาก็จะมีที่หุ้มเบาะสำหรับสุนัขโดยเฉพาะเอาไว้ ถ้าสุนัขตัวเล็กใส่กรง หรือกระเป๋าไว้ก็น่าจะปลอดภัยกว่าปล่อยให้วิ่งไปวิ่งมานะครับ สุนัขที่มีขนาดใหญ่นั้นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่แนะนำให้ใช้ก็คือเข็มขัดนิรภัยครับ จะใช้คาร์ซีทไม่ได้เพราะว่าสุนัขนั้นตัวใหญ่กว่าคาร์ซีท สุนัขที่มีขนาดเล็กนั้นมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บในขณะที่เราเบรค หรือเลี้ยวได้ง่ายกว่า สุนัขตัวใหญ่ เพราะมีน้ำหนักที่น้อยกว่า การใช้ที่นั่งสำหรับสัตว์เลี้ยงร่วมกับเข็มขัดนิรภัยน่าจะเหมาะกว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยเพียงอย่างเดียว ถ้าสุนัขตัวเล็กนั้นอยากเห็นวิวทิวทัศน์ในระหว่างขับรถ เราก็สามารถเสริมปรับที่นั่งให้สูงขึ้นได้ 
       ผมไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีขายที่ประเทศไทยแล้วหรือยังนะครับ ถ้ายังหาไม่ได้ก็คงต้องไปค้นหาทางอินเตอร์เน็ตนะครับ ผมมีตัวอย่างเว็บมาลองไปเปิดดูนะครับ บอกก่อนว่าผมไม่ได้ค่านายหน้านะครับ 55